วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ระบบสืบพันธุ์(reproduction)

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย


อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศชาย (male reproductive system) ประกอบด้วย
1. อัณฑะ (testis) มีลักษณะเป็นก้อนรูปไข่มี 2 อันอยู่ในถุงอัณฑะที่ห้อยอยู่ภายนอก มีหน้าที่ผลิตอสุจิและผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน (testosterone) ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่ในวัยอายุระหว่าง 12-16 ปี ฮอร์โมนนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเด็กผู้ชายเข้าสู่ วัยเจริญพันธุ์ คือ ตัวใหญ่ ไหล่กว้าง มีหนวดเครา เสียงห้าวขึ้น และมีความต้องการทางเพศ ภายในอัณฑะจะมีหลอดเล็กๆ ขดไปมาทำหน้าที่สร้างอสุจิ เรียกว่า หลอดสร้างอสุจิ
2. ถุงอัณฑะ (scrotum) อยู่นอกร่างกายทำให้อุณหภูมิเย็นกว่าภายในร่างกายซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะกับการเจริญของอสุจิ
3. หลอดเก็บอสุจิ (epididymis) อยู่ด้านบนของอัณฑะ ลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ทำหน้าที่เก็บอสุจิจนแข็งแรง ก็จะส่งไปที่ท่อซึ่งใหญ่กว่าเรียกว่า ท่ออสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ

4. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal vesicle) ทำหน้าที่หลั่งของเหลวประกอบด้วยอาหารจำพวกน้ำตาล ฟรักโทส และโปรตีน ซึ่งทำให้อสุจิมีชีวิตอยู่ได้ เรียกอสุจิกับน้ำเลี้ยงอสุจิว่า น้ำอสุจิ (semen)
5. ต่อมลูกหมาก (prostate gland) อยู่รอบๆ หลอดฉีดอสุจิ สร้างสารที่มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อน ทำลายฤทธิ์กรดในท่อปัสสาวะของชาย
6. อวัยวะภายนอกเรียกว่า องคชาต (penis) เป็นหลอดกลวง มีท่อปัสสาวะและท่ออสุจิซึ่งเชื่อมต่อกัน เป็นทางผ่านของปัสสาวะและอสุจิ แต่น้ำปัสสาวะและน้ำอสุจิจะไม่ออกจากท่อในเวลาเดียวกัน มีเยื่อที่แข็งตัวได้เมื่อมีเลือดเข้าไปคั่งอยู่ การทำงานจะอยู่ใต้อำนาจของเส้นประสาทที่แยกออกมาจากไขสันหลังบริเวณก้นกบ

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง


อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (female reproductive system) ประกอบด้วย
1. รังไข่ (ovary) เป็นอวัยวะของเพศหญิงมี 2 รังไข่อยู่ข้างซ้ายและข้างขวาของมดลูกทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง เรียกว่า ไข่ (egg) และสร้างฮอร์โมนเพศหญิง อีสโทรเจน (estrogen) โพรเจสเทอโรน (progesterone) และรีแลกซิน (relaxin) ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอายุประมาณ 10-15 ปี
ฮอร์โมนอีสโทรเจน ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะของความเป็นหญิง เช่น กระตุ้นให้ต่อมน้ำนมเจริญ ผิวพรรณละเอียดอ่อน รูปทรงดี เสียงเล็กแหลม มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ มีความต้องการทางเพศ ส่วนฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนอีสโทรเจนเกี่ยวกับการมีประจำเดือน ควบคุมเยื่อชั้นในของมดลูกให้มีการเตรียมการเพื่อรอรับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว การมีฮอร์โมนอีสโทรเจนและฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนต้องมีอยู่ในภาวะเหมาะสม หากมีมากเกินไปจะทำให้โตเป็นสาวไวกว่าอายุและถ้ามีน้อยเกินไปจะเจริญเติบโตช้า ส่วนฮอร์โมนรีแลกซิน มีหน้าที่ ช่วยให้เอ็นของกระดูกเชิงกรานบริเวณหัวเหน่าคลายตัวออกและมีลักษณะอ่อนนุ่มขึ้นเพื่อสะดวกในการคลอด
2. มดลูก (uterus) เจริญมาจากท่อนำไข่ มีลักษณะคล้ายผลฝรั่งคว่ำ ขนาดกว้างยาวประมาณ 332 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว เป็นบริเวณที่ไข่เมื่อถูกผสมแล้วมาฝังตัวและเจริญเติบโต มดลูกประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ
1) ชั้นนอก เป็นเยื่อบางเหนียว ขยายได้หลายเท่าเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
2) ชั้นกลาง เป็นกล้ามเนื้อเรียบ 2 ชั้น ทำหน้าที่บีบรัดตัวทำให้เยื่อชั้นในสุดหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนหรือทำให้ทารกคลอดออกมา
3) ชั้นใน เป็นเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ เมื่อตั้งครรภ์จะมีการสร้างเป็นรก (placenta) ในบริเวณนี้เพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหาร ของเสีย และอากาศระหว่างทารกกับแม่ หากไม่มีการตั้งครรภ์จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
3. ปีกมดลูกและท่อนำไข่ (oviduct) อยู่สองข้างของมดลูกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ปลายด้านที่อยู่ใกล้รังไข่มีลักษณะเป็นปากแตร ทำหน้าที่นำไข่เข้ามาสู่ท่อนำไข่เพื่อผสมกับอสุจิ
4. ช่องคลอด (vagina) เป็นช่องทางเข้าออกของอสุจิ และเป็นทางออกของทารกและประจำเดือน
5. อวัยวะภายนอก ประกอบด้วย แคมใหญ่ แคมเล็ก คริสติริส ต่อมในบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด และทางผ่านของน้ำปัสสาวะ (urethral orifice)
เซลล์สืบพันธุ์

เซลล์สืบพันธุ์ (sex cell) แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. เซลล์สืบพันธ์เพศชาย คือ ตัวอสุจิ (sperm) อสุจิของคนประกอบด้วยส่วนหัวมีลักษณะค่อนข้างแบนและปลายหัวสุดค่อนข้างแหลม ทำหน้าที่เจาะผนังไข่ขณะที่ผสมกัน ลำตัวอยู่ถัดจากหัวมีลักษณะเป็นทรงกระบอกและหาง
2. เซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง คือ ไข่ (egg) ประกอบด้วย เยื่อหุ้มเซลล์บางๆ ที่มีตำแหน่งหนึ่งเป็นรูเล็กๆ เพื่อให้ตัวอสุจิเข้าไปได้ และมีโพรโทพลาซึมซึ่งมีนิวเคลียสอยู่ภายใน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น